นักออกแบบเว็บในมุมมองของผู้ว่าจ้าง

นักออกแบบเว็บในมุมมองของผู้ว่าจ้าง

ในยุคดิจิทัลเราคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับโลกออนไลน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ช่องทางนี้จึงกลายเป็นช่องทางที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนชีวิตและการประกอบอาชีพ ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้สูงมาก ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ นักออกแบบเว็บไซต์

นักออกแบบเว็บไซต์หรือ Website Designer คือ ผู้ออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อนำเสนอ สินค้า บริการ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ประสงค์จะเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านโลกอินเทอร์เน็ต

นักออกแบบเว็บไซต์ ทำงานอย่างไร
เริ่มต้นจากการรับโจทย์จากผู้ว่าจ้างซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญมากก่อนจะลงมือออกแบบ นักออกแบบจำเป็นต้องเข้าถึงความต้องการ ความคาดหวังของผู้ว่าจ้างอย่างชัดเจนจึงจะสามารถออกแบบได้ตอบโจทย์ตรงใจ นำโจทย์ไปลงรายละเอียด ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างรอบด้าน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวางโครงร่าง (outline) กำหนดขั้นตอนการนำเสนอ การเขียนโปรแกรม นำเนื้อหาเข้าระบบ กำหนดการแสดงผล จัดวางภาพและข้อความ (layout) ในแต่ละเพจ ในขั้นตอนนี้อาจจะมีกราฟิกดีไซน์เนอร์มามีส่วนช่วยในการสร้างสรรค์งาน เพื่อให้มีความสมบูรณ์โดดเด่นครบครันทั้งในด้านฟังก์ชั่นและความสวยสะดุดตา

หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการทดสอบและแก้ไขงาน พร้อมนำส่งงานแก่ผู้ว่าจ้าง ในแต่ละขั้นตอนการทำงานจะนัดหมายผู้ว่าจ้างนำเสนองานเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่านักออกแบบเว็บยังเดินตามโจทย์ของผู้ว่าจ้างได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน

ความโดดเด่นของนักออกแบบเว็บไซต์ที่ผู้ว่าจ้างต้องการคือ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ มีเทคนิคการนำเสนอที่แตกต่าง มีทักษะการสื่อสารที่ดี มีความมุ่งมั่นใส่ใจให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญของโจทย์ และที่สำคัญคือการเข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย อาจเรียกได้ว่าเป็นนักออกแบบเว็บที่มีความเป็นนักการตลาดอยู่ในตัว การใส่ใจในรายละเอียดและการศึกษาค้นคว้าอย่างหนักของนักออกแบบเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของผู้ว่าจ้างและผู้บริโภคเป้าหมาย จะช่วยให้นักออกแบบลดเวลาในการแก้ไขงานลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีส่วนช่วยทำให้เว็บไซต์ประสบความสำเร็จสูง

สิ่งที่เป็นเหมือนทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของนักออกแบบ คือ การแข็งขืนยืนอยู่บนจินตนาการสร้างสรรค์ของตัวเอง หากมีมากเกินไปจนไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ปลายทางที่ผู้ว่าจ้างคาดหวัง เช่น อยากให้สวย เก๋ มีดีไซน์แต่ผู้บริโภคเป้าหมายใช้งานยาก โชว์เทคนิคการออกแบบจนเกินความจำเป็นต่อการใช้งาน ก็ถือว่างานยังไม่ตรงโจทย์ของผู้ว่าจ้างได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรจะมีการพบกันครึ่งทาง คือหาส่วนผสมที่ลงตัว ทั้งเป็นการสร้างผลงานด้วย และทำให้เกิดประสบการณ์ใช้งานที่ดีทั้งในส่วนของผู้ว่าจ้างและผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายที่ผู้ว่าจ้างคาดหวังจากนักออกแบบเว็บคือ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ธุรกิจ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเข้าถึงข้อมูลสำคัญของเว็บไซต์ได้ง่าย รวดเร็ว และสามารถใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ได้สูงสุด